วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประเภทของนกที่จะนำมาเลี้ยง

เราสามารถเลือกนกที่จะนำมาเลี้ยงได้หลายแบบหลายขนาด เช่น เลี้ยงลูกนกเกิดใหม่ นกหูดำ นกหนุ่ม นกป่า หรือจะซื้อหานกที่ฝึกมาแล้ว



ลูกนกหูดำ
         ปกติลูกนกที่มีอายุ 1-2 เดือน ขนที่หูหรือแก้มจะยังไม่เปลี่ยนเป็นสีแดง และยังร้องไม่เป็น จึงเรียกว่า ลูกนกหูดำ หรือลูกนกลูกใบ้ จะเป็นลูกนกที่ผู้นิยมเลี้ยงนำไปเลี้ยงในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงก่อนต้นฤดูฝน ในระยะหลัง ลูกนกลูกใบ้หรือนกหูดำจะมีราคาค่อนข้างสูง เมื่อได้ลูกนกไปแล้วก็นำลูกนกไปฝึกหัดเอง
ข้อดี
1. ลูกนกที่นำมาเลี้ยงจะเข้ากับคนได้เป็นอย่างดี ไม่ตื่นกลัวเมื่อพบคนแปลกหน้า เป็นนกที่ค่อนข้างเชื่อง
2. ถ้าหากมีนกต้นแบบที่ร้องดีคอยฝึกหัดให้ลูกนกได้จดจำเพลงร้อง จนลูกนกสามารถเลียนแบบได้ ก็จะได้นกที่มีน้ำเสียงดี
3. นกจะมีขนสวยงาม เนื่องจากเราฝึกให้เขาอาบน้ำเป็นตั้งแต่เล็กๆ 
4. ใช้เวลาเลี้ยงราว 1 ปี ก็จะได้นกหนุ่มที่สวยงาม และสามารถร้องให้ฟังได้แล้ว
ข้อเสีย
1. ลูกนกจะมีนิสัยขี้อ้อน แม้เมื่อโตขึ้นและพร้อมที่จะเข้าสนามซ้อม เพื่อแข่งขันก็มักแสดงอาการแบบลูกนกออกมาให้เห็นเสมอๆ โดยกระพือปีกเบาๆ และแลบลิ้นเพื่อขออาหาร
2. เมื่อโตขึ้นจะแสดงอาการคึกมากกว่าปกติ และมักแสดงนิสัยที่ไม่ดีออกมาให้เห็น เช่น จิกหาง จิกหา และจิกปีตัวเอง ทำให้ขนนกไม่สวยงาม
3. ถ้าเลี้ยงลูกนกหูดำโดยไม่มีนกต้นแบบหรือนกฝึกหัดที่ดี ลูกนกตัวนั้นก็จะร้องได้ไม่น่าฟัง แม้ปัจจุบันจะมีการขายเทปเสียงร้องของนกกรงหัวจุก แต่ผลที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะเทปเพลงมักจะอัดจากสนามซ้อมหรือสนามแข่งขัน ซึ่งจะมีเพลงร้องทั้งที่ดีและไม่ดีปะปนกัน
4. มีความเสี่ยงในเรื่องรูปร่างหน้าตาของนก เนื่องจากขณะที่ยังเป็นลูกนก ลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏยังไม่เต็มที่ เมื่อนกโตขึ้นจะผลัดขนไปทุกปี จนกระทั่งเป็นหนุ่ม เราจึงจะเห็นสภาพที่แท้จริงว่าสวยงามแค่ไหน บางตัวพอโตขึ้นหัวจุกตรงหรือโค้งไปข้างหลัง สร้อยหรือหมึกดำมีน้อยหางยาว ไม่สวยงาม และไม่เข้ารูปมมาตรฐาน

เลี้ยงนกป่า
          วิธีนี้ชาวบ้านจะใช้เครื่องมือหลายอย่างในการดักจับนก เช่น 
1. ใช้กรงหรือเพนียดต่อนก โดยใช้นกตัวผู้ที่ร้องมาก เรียกนกเก่ง กล่าวคือจะร้องสำนวนสั้นๆ เพื่อเชื้อเชิญให้นกป่าเข้ามาต่อสู้กัน ใส่ไว้ในกรง เมื่อนกป่าได้ยินเสียงร้องก็จะบินโฉบไปใกล้กรงต่อและร้องต่อสู้กัน โดยจะกระพือปีก กระโดดไปมา มีอาการร้องขู่ จนกระทั่งนกป่าเข้าโจมตีโดยการจิกนกในกรงต่อ ซึ่งก็จะถูกตาข่ายดีดลงมาทับตัวเอาไว้
ข้อดี
1. นกป่าที่ต่อมาได้จะเป็นนกหนุ่มที่ร้องเพลงเป็นแล้ว และสามารถดูออกว่ารูปร่างสวยงามหรือถูกต้องตามลักษณะแค่ไหน เพราะร้องและน้ำเสียงเป็นอย่างไร เพราะขณะที่นกลงมาต่อสู้กัน นกจะร้องปะทะคารมกันก่อน เมื่อจับมาแล้วก็นำไปเลี้ยงให้เชื่องได้เลย
2. นกที่โตในป่าจะมีจิตใจที่สู้เต็มร้อย จึงกล้าลงต่อสู้กับนกในกรงต่อได้ เนื่องจากนกที่โตในป่ามักจะแสดงตัวเป็นเจ้าของพื้นที่ ดังนั้น เมื่อนกตัวอื่นพลัดหลงเข้าไปก็จะโดนไล่จิกตี จึงมีความลำพองว่าตัวเองเก่ง เมื่อเรานำมาเลี้ยงไว้จนเชื่อง จึงมีสัญชาตญาณใจสู้เหมือนเดิม และสามารถลงแข่งขันได้
ข้อเสีย
1. นกที่ได้มาจากป่าจะมีสัญชาตญาณการอยู่ในป่า หากินในที่กว้าง เมื่อเราจับมาเลี้ยงในที่จำกัด นกจะตื่นกลัวและพยายามบินหนีตลอดเวลา อาจทำให้
1.1 เวลาที่คนเข้าไปใกล้ๆ นกจะบินชนซี่กรง ทำให้จมูกเลือดออกหายยาก เพราะนกจะบินชนตลอดเวลา
1.2 นกบางตัวเมื่ออยู่ในที่แคบๆ จะตกใจกลัว และพยายามหนีสุดชีวิต จนเป็นเหตุให้บิดคอหรือตีลังกาจนติดเป็นนิสัย ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะที่ไม่ดี ไม่นิยมกัน
1.3 ถ้าคิดจะเลี้ยงนกประเภทนี้ไว้แข่ง และเจ้าของไม่ได้เอาใจใส่ดูแลอย่างดีและสม่ำเสมอ อาจต้องใช้เวลา 2-3 ปี หรือมากกว่า ทำให้เสียเวลามาก ปัจจุบันนกประเภทนี้หาซื้อได้ยาก เพราะในธรรมชาติเหลืออยู่น้อยมาก
2. ใช้ตาข่ายหรือลอบจับนกป่าเป็นฝูง

วิธีการนี้เป็นการจับนกป่าที่ทำให้ปริมาณนกลดลงไปอย่างรวดเร็ว และเป็นวิธีที่ห้ามและมีการจับกุมคนจับ จึงไม่สนับสนุนให้ทำ

เลี้ยงนกที่ผ่านการเลี้ยงมาแล้ว
          เป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผลดี เนื่องจากผู้เลี้ยงสามารถเลือกนกได้ตามใจชอบและตามหลักการที่กำหนด เพราะนกเหล่านี้จะสู้และแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นเต็มที่ ทำให้รู้ว่ามีใจสู้แค่ไหน สำนวนดีหรือไม่ น้ำเสียงเป็นอย่างไร รูปร่างหน้าตาได้มาตรฐานแค่ไหน แล้วยังเห็นลีลาที่ดีและข้อเสียที่นกแสดงออกมา เช่น กระโดดไปร้องไป วิ่งเกาะถ้วย หรือบิดคอ เราก็สามารถตัดสินใจได้เลย วิธีนี้เรามักจะนำนกที่สู้แล้วไปเทียบเคียง คือเอาไปแขวนให้กรงห่างกันประมาณ 1 เมตร นกก็จะต่อสู้และร้องประชันกัน
ข้อดี
1. สามารถคัดเลือกได้เต็มที่ เพราะเราสามารถเห็นลักษณะการแสดงออกของนกได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
2. ได้นกที่คุ้นเคยกับคน ไม่ตกใจบง่าย ใช้เวลาเลี้ยงและฟิตไม่นานก็เข้าสนามแข่งได้เลย
ข้อเสีย คือราคาค่อนข้างแพง เนื่องจากผู้ขายเลี้ยงมาจนเชื่องแล้ว


ลักษณะและพฤติกรรมที่ไม่ควรเลี้ยง                                     "การกระโดด" ปกตินกกรงหัวจุกจะมีลีลาการกระโดดด้วยท่วงท่าทีสง่างาม กระโดดเกาะคอนบ้าง ที่ห่วงกลมบ้าง ที่ซี่กรงบ้าง กระโดดไปกินน้ำ กินอาหาร เมื่อกระโดดมาจับที่คอนแล้วจะร้องเป็นเสียงเพลงแทบทุกครั้ง
"การหมุนคอหรือบิดคอ"  นกกรงหัวจุกที่ดี เมื่อกระโดดไปมาตามที่ต่างๆ จะมีคอตั้งตามปกติ อาจจะหมุนคอไปดูสิ่งอื่นหรือได้ยินเสียงเรียกของผู้เลี้ยง
"นกชอบตีลังกา" นกกรงหัวจุกที่ดีจะมีการกระโดดไปมาตามปกติ
"หาง" มีหางยาวเหมาะสมกับลำตัว ขนหางซ้อนกันเป็นระเบียบและสวยงาม
"หัว" มีหัวใหญ่และหน้าใหญ่สมส่วนกับตัวนก
"ช่วงลำตัว" ควรมีลำตัวมีลักษณะรูปทรงเหมือนปลีกล้วย ขณะที่ปลีกล้วยยังเล็กอยู่
"น้ำเสียง" น้ำเสียงดีร้องได้เป็นเพลง ไม่มีเพลงเสีย
"ดวงตา" ต้องนูนและดูแจ่มใส
"จุก" จุกที่หัวต้องมีโคนจุกใหญ่และมีขนขึ้นเต็ม
"ขนอก" ขนที่หน้าอกต้องฟูเป็นปุยเหมือนสำลีในเวลานกกรงหัวจุกร้อง
"นกชอบจิกตัวเอง" นกกรงหัวจุกที่ดี ไม่ชอบจิกตัวเอง 
ผู้ที่เลี้ยงนกกรงหัวจุก หรือซื้อมาเลี้ยงไว้แล้ว จะต้องคอยสังเกตุดูว่านกกรงหัวจุกของผู้เลี้ยงมีลักษณะและพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นนี้หรือไม่ เมื่อดูแล้วเห็นว่า มีลักษณะและพฤติกรรมที่ไม่ดี ก็ควรปล่อยให้ไปอยู่ตามธรรมชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น